ประวัติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับสมุดไทยบนพานแว่นฟ้า จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภา
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักของประเทศ รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้แต่งตั้งกรรมการพิจารณาเรื่องวันหยุดราชการและการประกอบพิธีทางราชการที่เกี่ยวกับวันหยุดราชการ โดยมีหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณเป็นประธานในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เพื่อความเรียบร้อยในการปฏิบัติราชการ
ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ พระยาพหลพลพยุหเสนาประกาศวันหยุดราชการขึ้น ๙ รายการ โดยมีวันที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ๓ รายการ ได้แก่
- วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตรงกับวันที่ ๒๗ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕
- วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ ๑๐ ธันวาคม ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม โดยให้วันที่ ๙ และวันที่ ๑๑ เป็นวันหยุดราชการด้วย
หลังจากนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนแปลงวันหยุดราชการที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ดังนี้
- พ.ศ. ๒๔๘๒ – คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ ๙ มีมติให้ปรับวันที่ ๒๔ มิถุนายนเป็นวันชาติ โดยควบรวมวันที่ ๒๓ และ ๒๕ เป็นวันหยุดราชการด้วย ยกเลิกวันรัฐธรรมนูญชั่วคราว (๒๗ มิถุนายน) ส่วนวันรัฐธรรมนูญ (๑๐ ธันวาคม) ยังคงเดิม
- พ.ศ. ๒๔๙๑ – คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ ๒๑ มีมติให้ปรับวันที่ ๑๐ ธันวาคมเป็นวันหยุดราชการในชื่อวันรัฐธรรมนูญเพียงวันเดียว[4]
- พ.ศ. ๒๔๙๓ – คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ ๒๒ มีมติให้ปรับวันที่ ๙, ๑๐ และ ๑๑ ธันวาคมเป็นวันหยุดราชการในชื่อวันรัฐธรรมนูญตามเดิม[5]
- พ.ศ. ๒๔๙๗ – คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ ๒๕ มีมติให้ปรับวันที่ ๑๐ ธันวาคมเป็นวันหยุดราชการในชื่อวันรัฐธรรมนูญเพียงวันเดียว เพื่อปรับลดจำนวนวันหยุดราชการไม่ให้กระทบกิจการอื่น และคงไว้จนถึงปัจจุบัน